นุ่งผ้าซิ่นออกสื่อทำยอดขายพุ่ง ขายหมดเกลี้ยง
เปิดใจเจ้าของร้านผ้าทอ ‘ลิซ่า’ ใส่เที่ยวอยุธยา แท้จริงเป็นแม่ดาราดัง
“ลิซ่า BLACKPINK” ซอฟต์พาวเวอร์ ใส่ “ผ้าซิ่น” เที่ยวอยุธยา เจ้าของร้านสุดดีใจ ผ้าไม่มีเหลือแล้ว ตอนนี้ยอดสั่งผ้าเข้ามาจำนวนมาก ตั้งใจให้ชาวบ้านทอ ถือเป็นการกระจายรายได้
ภายหลังจากนักร้องสาวไทยชื่อดัง “ลลิษา มโนบาล” หรือ “ลิซ่า BLACKPINK” ได้สวมเสื้อผ้าฝ้ายและนุ่งผ้าซิ่นฝ้ายมัดหมี่ย้อมคราม ไปเที่ยวอยุธยากับเพื่อนๆ จนกลายเป็นกระแสไวรัลในโลกออนไลน์ ทำให้หลายคนตามหาผ้าซิ่นมาใส่ตามกันเป็นจำนวนมาก
ล่าสุด วันที่ 6 มิ.ย. 2566 ผู้สื่อข่าวเดินทางไปที่ร้านชานเรือน ตลาดผ้านาข่า เทศบาลตำบลนาข่า อ.เมือง จ.อุดรธานี ซึ่งเป็นตลาดจำหน่ายผ้าไทยที่ใหญ่ที่สุดใน จ.อุดรธานี พบนางสุวิมล ไชยวงศ์ อายุ 61 ปี เจ้าของร้าน
ซึ่งเป็นแม่ของนางเอกสาว เดียร์น่า ฟลีโป นักแสดงสังกัดช่อง 3 เล่าว่า เปิดร้านจำหน่ายผ้าไทยมา 30 กว่าปี โดยคุณยายจะทอผ้าไทย ทั้งผ้าไหม ผ้ามัดหมี่ ผ้าหมี่ขิด ผ้ามัดหมี่ย้อมครามหมักโคลน สำหรับใส่และขาย ต่อมาตนได้มาสานต่อ โดยที่ร้านจะเป็นผ้าทอมือ HAND MADE ทั้งหมด โดยจะเน้นลายโบราณและย้อมสีธรรมชาติ
สำหรับ เดียร์น่า ฟลีโป ลูกสาวรู้จักกับ ลิซ่า BLACKPINK ตั้งแต่เข้าวงการใหม่ๆ เพราะทั้งสองคนไปเรียนร้องเพลงด้วยกัน คบเป็นเพื่อนกันตั้งแต่นั้นมา น้องเดียร์น่าได้โทรมาบอกว่าจะไปเที่ยววัดที่ จ.อยุธยา กับเพื่อนหลายคน
อยากให้แม่ตัดผ้าถุงไทยมาให้เพื่อนได้ใส่ไปวัด จึงตัดส่งไปให้หลายลายและลายสี หนึ่งในนั้นมี “ผ้ามัดหมี่ย้อมครามหมักโคลน” ลายขอนาค ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาวอีสาน เป็นลายโบราณที่ผู้เฒ่าผู้แก่ทอไว้ใส่ไปทำบุญ ซึ่งลิซ่าเลือกใส่ผ้าลายนี้
ทั้งนี้ รู้สึกดีใจมากที่น้องลิซ่าใส่ผ้าถุง เพราะเราไม่ได้คาดหวังว่าน้องจะใส่ ตัดเผื่อไปให้จะใส่หรือไม่ใส่ก็ไม่เป็นไร พอน้องเลือกใส่ก็ดีใจมาก เพราะน้องเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ เผื่อเป็นแบบให้วัยรุ่นยุคใหม่ หันมาสวมใส่ผ้าถุงไทยเข้าวัดตามน้อง
ขอบคุณที่น้องเลือกใส่ผ้าไทย ทำให้คุณรุ่นใหม่มองเห็นคุณค่าของผ้าไทยด้วย ซึ่งผ้ามัดหมี่ย้อมครามหมักโคลน มีจุดเด่นคือนิ่มใส่สบาย ไม่ร้อน
อย่างไรก็ตาม หลังจากน้องลิซ่าใส่ผ้าถุง “ผ้ามัดหมี่ย้อมครามหมักโคลน” ที่ส่งไปให้ ทำให้มียอดสั่งซื้อเข้ามามาก แต่อยากขอบอกลูกค้าว่าตอนนี้ไม่มีผ้าขาย เพราะหมดแล้ว หากอยากได้ให้พรีออเดอร์เข้ามาทางเพจร้านชานเรือน นาข่า ซึ่งตอนนี้มียอดสั่งเข้ามาจำนวนมาก ตั้งใจจะให้ชาวบ้านทอ ถือว่าเป็นการกระจายรายได้ ลูกค้าจะต้องรอประมาณ 1 เดือนตามคิว.