จากกรณีกรมศุลกากรจับทุเรียน น้ำหนัก 8,420 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 1 ล้านบาท ในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว โดยระบุว่า เป็นทุเรียนเถื่อนมีถิ่นกำเนิดต่างประเทศ ไม่ปรากฎเอกสารหลักฐานแสดงการผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง จึงยึดของกลางทั้งหมดส่งดำเนินคดี ต่อมาเจ้าของล้งทุเรียน ได้ร้องเรียนกับ นายอัมรินทร์ ยี่เฮง เครือข่ายภาคประชาชนจังหวัดสระแก้ว ว่า ทุเรียนดังกล่าวซื้อมาอย่างถูกต้อง จากเจ้าของสวนในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ เพื่อนำมาส่งขายไปยังต่างประเทศ เนื่องจากทุเรียนใน จ.จันทบุรี มีไม่เพียงพอ
ภาพจาก กรรมกรข่าว
นอกจากนี้ ยังยอมรับว่า การลักลอบผ่านด่านทุเรียนทำได้ยาก เพราะขนกัน 4-5 ชั่วโมง ผ่านอีกหลายด่าน ซ้ำร้ายเมื่อถูกจับ กฎหมายก็เปิดโอกาสให้ศุลกากรนำไปขายหน่วยงานภายใน ทุกหน่วยราชการในจังหวัด 50 ลูก มูลค่า 7,500 บาท แบบนี้ผิดหรือไม่
ต่อมา มีการออกมาท้ากรมศุลกากรให้เปิดคลิปหลักฐานการขนย้ายทุเรียนดังกล่าว ซึ่งทางศุลกากรแจงว่า มีคลิปหลักฐานครบ และรถคันนี้ไม่เคยไปที่ จ.ศรีสะเกษ ตามที่กล่าวอ้างเลย
ล่าสุด วันที่ 28 มิถุนายน 2566 เฟซบุ๊ก สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว รายงานว่า นายสมัย สุยคำไฮ วัย 55 ปี เจ้าของสวนทุเรียน จ.ศรีสะเกษ ที่มีชื่อใบสำเนา GAP อยู่ในรถบรรทุกที่ถูกจับกุม ยืนยันว่า ทุเรียนที่ถูกศุลกากรจับที่ จ.สระแก้ว ไม่ใช่สวนของตน แม้ปรากฏชื่อในสำเนาใบ GAP ในรถบรรทุกทุเรียนที่ถูกจับ คาดว่าเป็นการสวมใบรับรอง GAP เพราะล้งทุเรียนมาวันที่ 24 มิถุนายน แต่วันที่ถูกจับคือวันที่ 23 มิถุนายน
ภาพจาก เรื่องเล่าเช้านี้
นอกจากนี้ นายสมัยยังเอาใบสัญญาซื้อขายทุเรียน ลงวันที่ 22 มิถุนายน 2566 ที่ระบุว่า ขายทุเรียนหมอนทอง 1 หมื่นลูก ยกเว้นท็อป หนอน ต่ำกว่า 1.5 กิโลกรัม ในราคากิโลกรัมละ 115 บาท โดยสัญญาระบุว่า มีการมัดจำกับผู้ขายวันที่ 22 มิถุนายน 2566 เป็นเงิน 3 แสนบาท โอนเข้าบัญชีนายสมัย และเอาใบรับรอง GAP ที่เป็นฉบับตัวจริงมาด้วย
จากการตรวจสอบ พบว่า นายสมัยเป็นเจ้าของสวนทุเรียนภูเขาไฟจริง ในวันที่ 22 มิถุนายน วันที่ล้งมารับซื้อ ได้ใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายภาพใบรับรอง GAP ของตนไปก่อน เนื่องจากต้องการเอาไปประกอบทำสัญญาซื้อขาย ซื้อทุเรียนจากสวนตนจริง และล้งจะเข้ามาตัดทุเรียน 24 มิถุนายน แต่เรื่องที่เป็นข่าว กลับถูกจับวันที่ 23 มิถุนายน และมีใบรับรอง GAP ของตน มีการลงลายมือชื่อกำกับด้วย
ภาพจาก เรื่องเล่าเช้านี้
ทั้งนี้ ตนยืนยันว่า ลายมือชื่อในใบรับรอง และหมายเลขโทรศัพท์ ไม่ใช่ของตน และทุเรียนที่ถูกจับกุมก็ไม่ใช่สวนตน คาดว่าเรื่องนี้มีการเอาใบรับรองตนไปขาย เพื่อใช้ในการลักลอบขนทุเรียนเถื่อน ดังนั้น ตนจึงฝากเตือนพี่น้องเกษตรกรว่า ไม่ควรที่จะมอบใบรับรอง GAP ให้กับล้งที่มาซื้อทุเรียน โดยไม่มีการลงลายมือชื่อตนเองกำกับด้วย เพื่อป้องกันการแอบอ้าง