วันที่ 22 มิถุนายน 2566 เฟซบุ๊ก Kantaphong Thakoonjiranon ได้มีการโพสต์ภาพปลาเกยตื้นตายเกลื่อนชายหาด พร้อมข้อความระบุว่า "ปรากฏการณ์ ปลาตายน้ำแดง ริมหาดทุ่งวัวแล่น จังหวัดชุมพร ตั้งแต่อยู่ทะเลมาปีนี้เยอะที่สุด "หลายล้านตัว" #หาดทุ่งวัวแล่น #ปลาตายน้ำแดง"
ต่อมาทาง ผศ. ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า หาดทุ่งวัวแล่น ชุมพร มีปลาขึ้นมาตายจำนวนมาก จึงอยากอธิบายให้เพื่อนธรณ์ เป็นปรากฏการณ์ปกติ คนแถวนั้นเรียก "น้ำแดง" (ชื่อเฉพาะ) มักเกิดตอนต้นฤดูฝน เมื่อน้ำจืดลงทะเลเป็นจำนวนมาก พาธาตุอาหารลงทะเล สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนรวดร็ว เกิดแพลงก์ตอนบลูม
ที่ทุ่งวัวแล่น ตามข่าวบอกว่า ปีนี้ปลาตายเยอะกว่าปีก่อน ๆ เกี่ยวกับโลกร้อนไหม ? คำตอบคืออาจเกี่ยวบ้าง เช่น น้ำร้อนทำให้ปลาตายง่ายขึ้น ฝนตกเยอะน้ำจืดลงทะเลเยอะ ฯลฯ แต่ผลกระทบจากโลกร้อนต้องศึกษาให้ถี่ถ้วน ด้วยข้อมูลตอนนี้ คงบอกว่าเมื่อโลกร้อนขึ้น "อาจ" ส่งผลกระทบต่อแพลงก์ตอนบลูมและปลาตาย
ไม่เหมือนปะการังฟอกขาวที่เห็นชัดกว่าและอธิบายได้ตรงกว่า ไม่ควรเก็บปลามากิน แม้ไม่มีพิษ แต่ถ้าตายมานาน ไม่สด อาจติดเชื้อ ผลกระทบโลกร้อนต่อทะเลเป็นเรื่องละเอียดอ่อน โดยเฉพาะการเร่งปรากฏการณ์เดิมให้แรงขึ้น เช่น ปะการังฟอกขาว แพลงก์ตอนบลูม ภัยพิบัติเริ่มมองเห็นชัดขึ้นเรื่อย ๆ แล้วครับ